วันที่ 28 กันยายน 2567 ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายกสภามหาวิทยาลัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นำคณะผู้บริหารของ มบส. เยือนสำนักพิมพ์ การสอนและการวิจัยภาษาต่างประเทศ กรุงปักกิ่ง เพื่อศึกษาดูงานและร่วมประชุมแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสำนักพิมพ์การสอนและการวิจัยภาษาต่างประเทศ
การเดินทางเยือนในครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายกสภามหาวิทยาลัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณะผู้บริหารคุณ Chen Yuanyuan รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสำนักพิมพ์การสอนและการวิจัยภาษาต่างประเทศ คุณ Shao Lei หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะผู้บริหาร
สำนักพิมพ์การสอนและการวิจัยภาษาต่างประเทศ มีพันธกิจหลักคือ “บันทึกอารยธรรมมนุษย์ สื่อสารวัฒนธรรมโลก” โดยอาศัยประโยชน์จากความได้เปรียบด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ที่มีการดำเนินงานมากว่า 40 ปี โดยในปัจจุบันมีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือและวารสารที่มีความหลากหลายในภาษามากกว่า 80 ภาษาในทุก ๆ ปี โดยในแต่ละปีได้จัดพิมพ์ตำราและผลงานทางวิชาการคุณภาพสูงจำนวนมาก ให้บริการนักเรียนระดับประถมและมัธยมกว่า 30 ล้านคน และจัดฝึกอบรมครูภาษาต่างประเทศมากกว่า 100,000 คน ซึ่งได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปและสร้างนวัตกรรมการศึกษาภาษาต่างประเทศในประเทศจีน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพของครูภาษาต่างประเทศ
วัตถุประสงค์สำคัญของการเดินทางมากระชับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ คือ การสร้างความร่วมมือด้านสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการสอนและวิจัยภาษาต่างประเทศ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและสำนักพิมพ์การสอนและวิจัยภาษาต่างประเทศ ดังนี้
1.ความร่วมมือด้านการจัดพิมพ์ตำรา หนังสือ สื่อการสอนภาษาจีนและหนังสือที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ความร่วมมือด้านการแปลและวรรณกรรมจีนที่มีความโดดเด่นเป็นภาษาไทย และเผยแพร่ อภิปรายแลกเปลี่ยนแนวโน้มและเทคโนโลยีล่าสุดในอุตสาหกรรมการจัดพิมพ์
- ความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิชาการ ระหว่างจีนและไทยในสาขาภาษาศาสตร์ การศึกษา และสาขาอื่น ๆ หารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางวิชาการ วางแผนโครงการวิจัยร่วมและการประชุมทางวิชาการ
- การศึกษาสภาพตลาดและวิเคราะห์ความต้องการและแนวโน้มของตลาดไทยต่อการศึกษาภาษาจีน วิเคราะห์ความชอบของนักเรียนและผู้ปกครองชาวไทยที่มีต่อสื่อการสอนและวิธีการสอนภาษาจีนในประเทศไทย หารือเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรการสอนตามความต้องการของตลาด
- ความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ตำรา หนังสือ และสื่อการสอนภาษาจีน
- การสนับสนุนสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการสอนและวิจัยภาษาต่างประเทศ ซึ่ง ในปี 2566 สำนักพิมพ์ฯ ได้เคยสนับสนุนจัดมอบตำรา หนังสือ และสื่อสิ่งพิมพ์ ภาษาจีน ให้กับห้องสมุดภาษาจีน สถาบันขงจื๊อฯ
การศึกษาดูงานและประชุมหารือในครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการขอรับการสนับสนุนเพื่อเปิดคอลัมน์พิเศษ รองรับการตีพิมพ์บทความวิชาการ บทความวิจัยด้านจีนศึกษาที่เป็นภาษาจีน ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อีกทั้งเป็นการขยายความร่วมมือทางวิชาการ นำมาซึ่งแนวทางการพัฒนาด้านวิชาการร่วมกันในมิติที่หลากหลายในระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม
—-
ภาพ/ข่าวโดย : เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ สำนักวิเทศสัมพันธ์และเครือข่ายอาเซียน